เปิดความเสี่ยง 'รักออนไลน์' อินเลิฟแบบไหน ไม่ถูกหลอก

01 พ.ค. 2563 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เปิดความเสี่ยง 'รักออนไลน์' อินเลิฟแบบไหน ไม่ถูกหลอก

เปิดปมปัญหาคลาสสิกของ "รักออนไลน์" ที่หลายคนอาจจบด้วยการตกเป็นเหยื่อ หลอกให้รัก หลอกให้หลง และโอนเงินหรือทรัพย์สินให้อย่างไม่ทันรู้ตัว

แม้ว่า "รักออนไลน์" จะกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปของผู้คนสมัยนี้ ซึ่งสำหรับใครที่ได้พบ "รักแท้" ก็โอเคว่าเราขอแสดงความยินดีด้วย

แต่ในอีกทางที่ถือเป็นปัญหาที่ต้องพึงระวังมากกว่า แค่การได้เจอรักแท้หรือแค่เข้ามาแล้วผ่านไป ก็คือ เคสของคนที่ถูกหลอกให้รัก หลอกให้หลง และที่สำคัญ คือ หลอกให้โอนเงินหรือทรัพย์สินให้แบบไม่ทันจะได้ตั้งสติดีๆ กว่าจะรู้ตัวว่า โดนหลอกก็อาจหมดตัวไปแล้วก็ได้นั้น

ข้อมูลจากงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยอย่างน่าตกใจว่า การหลอกลวงแบบ "โรมานซ์สแกม" หรือ ภัยแฝงที่มาจากการพบรักในโลกออนไลน์ เช่น หลอกให้รักแล้วโอนเงินนั้นมีมูลค่าความเสียหายถึง 6 พันล้านบาท สูงเป็นอันดับสองรองจากการหลอกลวงเป็นผู้รับเงินทางอีเมล

และช่วงมิถุนายน ปี 2561 -พฤษภาคม ปี 2562 ประเทศไทยมีผู้ร้องทุกข์จากกรณีดังกล่าวมากกว่า 300 ราย เสียหายกว่า 190 ล้านบาท โดยช่องทางยอดนิยมที่มิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือล่อลวงเหยื่อ ได้แก่ โซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์หาคู่ต่าง ๆ

ทั้งนี้ ขั้นตอนที่มิจฉาชีพใช้ก็มีหลากหลาย แต่ทุก “วงจรการหลอกลวง” ท้ายที่สุดนั้นก็นำไปสู่จุดประสงค์หลักในการ “หลอกเอาเงิน” หรือ “หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของคุณเพื่อไปทำธุรกรรมทุจริต” นั่นเอง

สำหรับ ขั้นตอน รัก ลวง หลอก (โอน) ผ่านธุรกรรมออนไลน์ ที่มิจฉาชีพใช้ส่วนใหญ่มักผ่าน 3 วงจร ดังนี้

Step 1 : แปลงโฉมเพื่อสืบเสาะเข้าหา หรือล่อเหยื่อเข้ามา

สร้างโปรไฟล์ปลอมบนโลกออนไลน์ บางรายใช้ภาพที่ผ่านการตัดต่อเรียบร้อยแล้ว มีโพสต์ภาพกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ชื่อเว็บไซต์บริษัท/สถานที่ทำงาน หรือ ใช้รูปปลอมและข้อมูลโปรไฟล์ปลอมที่ขโมยคนอื่นมาแทนเป็นตัวเอง เพื่อสร้างภาพให้สวย หล่อ บุคลิกดี มีอาชีพมั่นคง มีฐานะร่ำรวย หลอกล่อคนที่เข้ามาเห็นให้เกิดความประทับใจแบบFirst Impression

อีกแบบคือแอบตามดูโปรไฟล์ของเหยื่อที่หมายตาในโลกโซเชียล จ้องหาโอกาสจากทุกสิ่งที่เหยื่อแสดงหรือบอกความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลไปแปลงโปรไฟล์ตัวเองให้ตรงใจหรือความชอบของเหยื่อและเข้าหาโดยอาจจะแชทไปทักทำความรู้จัก อีกทั้งมองหาข้อมูลของเหยื่อที่บอก “ฐานะทางการเงิน” และ “ข้อมูลที่สามารถใช้ยืนยันตัวตน” เพื่อเก็บไปใช้ในภายหลัง

Step 2 : ปากหวานให้ตายใจ
เมื่อติดต่อกันแล้ว ก็จะเริ่มเข้าตำราคารมเป็นต่อรูปหล่อเป็นรอง ไม่ก็สายหวาน ออดอ้อน หลอกล่อ โดยการหว่านล้อมในรูปแบบต่าง ๆ จะมาแบบเป็นชุด ทั้งส่งข้อความทักทาย ใช้คำพูดที่หอมหวาน ตื๊อเช้าตื๊อเย็น เพื่อให้เหยื่อรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ โดยพยายามสานสัมพันธ์อย่างรวบรัด เร็วสุดตั้งแต่ 2-3 วัน ไปจนกระทั่งการอดทนนานเป็นปี ๆ ค่อยออกลาย

Step 3 : ร้อยเล่ห์เพทุบาย
เมื่อเหยื่อเริ่มติดและแสดงให้เห็นแล้วว่า "ตายใจ" ก็จะเข้าสู่ขั้นตอน “สร้างสถานการณ์” ให้เหยื่อเกิดความสงสาร ความเห็นใจ และ "สร้างความหวัง" ว่าจะได้พบกัน จากนั้นก็มาถึงการร้องขอเงิน เช่น มีปัญหาทางการเงินเร่งด่วน เช่น ค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ ค่าเล่าเรียน ธุรกิจถูกโกง/มีปัญหา เกิดอุบัติเหตุ ซื้อตั๋วเครื่องบิน/ทำวีซ่าเพื่อเดินทางมาพบกัน เป็นต้น

บางรายก็ใช้วิธีหลอกล่อว่าส่งสิ่งของ/ทรัพย์สินมาให้ แต่ติดปัญหาที่กรมศุลกากร สนามบิน หรือสถานีตำรวจ ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเพื่อรับสิ่งของ/ทรัพย์สินเหล่านั้น อาจมีผู้ร่วมขบวนการแสร้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโทรมาแจ้งค่าธรรมเนียมต่าง  ๆ หรือชักชวนให้ร่วมลงทุนสร้างธุรกิจเพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกันก็มี

ซึ่งมาถึงขั้นตอนนี้ หากเป็นคนแปลกหน้าที่รู้จักกันในโลกโซเชียล ไม่เคยเจอตัวจริง หลายคนอาจจะไหวตัวทัน แต่ถ้าเป็นการปลอมแปลงโดยไปเอาโปรไฟล์คนรู้จักของเหยื่อ แล้วทักมาในช่องทางอื่น ๆ แบบไม่เห็นตัวและสร้างสถานการณ์ที่น่าสงสารหรือตกใจ หลายคนก็ตายใจโอนให้แบบไม่มีคำถาม

ทั้งนี้ ช่องทางที่มิจฉาชีพนิยมใช้ล่อเหยื่อให้โอนเงินมาก็มักเป็นธุรกรรมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นทางโมบายแบงค์กิ้งหรืออีวอลเล็ท เพราะไม่ต้องเจอตัวกันจริง ๆ หรือต้องไปที่ไหนที่เสี่ยงกับการถูกกล้องวงจรปิดจับภาพ หรือถูกจดจำได้จากคนที่เจอ

ซึ่งคนที่ไม่ไหวตัวในทีแรก เมื่อโดนหลายรอบและยอดเงินพุ่งสูง เหยื่ออาจเริ่มตาสว่าง มิจฉาชีพก็มักหายตัวไปหาเหยื่อใหม่ ๆ ซึ่งเมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ ความยากในการติดตามคือ บางครั้งก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเบอร์เจ้าของบัญชีที่ดูเหมือนมีตัวตนจริง ๆ นั้น เป็นเหยื่อที่โดนมิจฉาชีพไปเอาข้อมูลมาสร้างโปรไฟล์ปลอมมาหรือเปล่า

 

อ่านเพิ่มเติม: คลิกลิงก์

ที่มา: bangkokbiznews

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Mobile Banking ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

Mobile Banking เป็นแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ สะดวก รวดเร็ว แต่ในความสะดวกรวดเร็วนั้นก็มีความเสี่ยงในขณะใช้เช่นกัน ซึ่งมีวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยได้ดังนี้ &

อ่านบทความนี้

ซื้อยาออนไลน์ อันตรายกว่าที่คิด

การซื้อยาผ่านช่องทางออนไลน์มากินเอง มีความเสี่ยงที่จะได้ยารักษาที่ไม่ตรงกับอาการ ยาไม่มีคุณภาพ หรือยาปลอม ซึ่งการจะรักษา หรือบรรเทาอาการนั้น ๆ จะต้องเข้าไปปรึกษาอาการเบื้องต้นกับเภสัชกร เพ

อ่านบทความนี้

ของถูก ระวังถูกหลอก

ปัจจุบันนี้มิจฉาชีพมีการออกอุบายในการหลอกลวงขายสินค้าในช่องทางออนไลน์หลากหลายรูปแบบ วิธีการหนึ่งที่กลุ่มมิจฉาชีพนำมาใช้คือการ “หลอกขายสินค้าราคาถูก” โดยจะมีการออกอุบายดังนี้ จะมีการ

อ่านบทความนี้