เคล็ดลับ 5 ขอ ฉบับคนขายออนไลน์ แก้ปัญหาละเมิดข้อมูลลูกค้า
16 มี.ค. 2566 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไม่อยากละเมิดข้อมูลส่วนตัวลูกค้าโดยไม่รู้ตัว จนขายของไม่ได้
รู้หรือไม่? ผู้บริโภคคนไทย 65% กังวลใจเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล โดยข้อมูลที่ไม่อยากให้มากที่สุดเป็นเรื่องของรายได้ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ และเลขประจำตัวประชาชน และลูกค้าราว 75% เลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ไม่สามารถปกป้องข้อมูลของพวกเขาได้ ถึงแม้ว่าแบรนด์นั้นจะดีแค่ไหนก็ตาม
เป็นการสะท้อนให้เห็นชัดว่า วันนี้ลูกค้าค่อนข้างกังวลถึงความปลอดภัยและการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล แถมตอนนี้ยังมีกฎหมาย PDPA ออกมาคุ้มครองอีกด้วย ยิ่งทำให้คนขายออนไลน์ต้องระมัดระวังการใช้ข้อมูลของลูกค้ามากขึ้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสี่ยงล้ำเส้นข้อมูลลูกค้า ร้านค้าออนไลน์สามารถทำตามเคล็ดลับ “5 ขอ” ต่อไปนี้ได้ รับรองว่าหมดห่วงเรื่องละเมิดข้อมูลของลูกค้าอย่างแน่นอน
1.ขอข้อมูลไปเพื่ออะไรบอกไว้ให้ชัด
เพื่อความโปร่งใสและความสบายใจของลูกค้า ทางร้านควรชี้แจงให้รู้ถึงจุดประสงค์ของการเก็บ นำไปใช้ และการเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน โดยบอกได้ทั้งทางวาจา แจ้งในอีเมล หรือประกาศไว้บนหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เช่น ทำเป็นแถบแจ้งเก็บ Cookie หรือแสดงนโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy) เพื่อให้ลูกค้าได้รู้และตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้เก็บข้อมูลเหล่านั้นหรือไม่
2.ขอข้อมูล “เท่าที่จำเป็น”
แม้ว่าลูกค้าจะต้องให้ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล หรือที่อยู่ของโซเชียลมีเดีย เช่น ID LINE หรือ Messenger เพื่อใช้ในการติดต่อและจัดส่งสินค้า โดยที่ทางร้านไม่ต้องขอความยินยอมก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ไม่ควรขอข้อมูลที่มากเกินจำเป็น และระวังการขอข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนสูง เพราะจะสร้างความอึดอัดใจให้กับลูกค้าได้ เช่น ข้อมูลของเชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อทางการเมือง ข้อมูลพันธุกรรม รสนิยมทางเพศ ข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ
3.ขอไม่นำความเป็น “ส่วนตัว” ไปสู่ “สาธารณะ”
การนำข้อมูลมาใช้หรือเปิดเผยเป็นอีกสิ่งที่ร้านค้าออนไลน์ควรระวัง โดยเฉพาะไม่ควรเผยแพร่สลิปการชำระเงินที่มีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของลูกค้า และหมายเลขพัสดุ (Tracking) อันเป็นข้อมูลส่วนตัวบนช่องทางสาธารณะ เช่น เพจ Facebook ของทางร้าน หรือไลน์กลุ่ม แต่สามารถทำการแจ้งลูกค้าในช่องทางส่วนตัวของลูกค้าได้
4.ขอให้เคารพสิทธิที่ลูกค้าพึงมี
ในกรณีที่ทางร้านต้องการให้ลูกค้ายืนยันว่าได้รับสินค้าแล้วจริง สิ่งที่ควรรู้คือ ลูกค้ามีสิทธิที่จะปฏิเสธพนักงานส่งสินค้าในการถ่ายรูปใบหน้าขณะรับสินค้า แต่สามารถเปลี่ยนเป็นถ่ายรูปมือขณะรับสินค้าแทนได้
5.ขอความยินยอมก่อนแสดงข้อมูล
หลายครั้งที่ทางร้านอยากโพสต์รีวิวจากลูกค้าบนเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของตัวเอง ซึ่งอาจจะไม่ได้มีแค่ข้อความ แต่มีรูปภาพของลูกค้าหรือคลิปวิดีโอประกอบมาด้วย ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น หากจะนำมาใช้ควรขออนุญาตจากทางลูกค้าเสียก่อน พร้อมแจ้งให้ชัดเจนว่าจะนำข้อมูลนั้นไปใช้ที่ไหน หรือจะเผยแพร่ที่แพลตฟอร์มใด