10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์

27 ธ.ค. 2564 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาจับจ่ายผ่านออนไลน์สูงขึ้น ขณะเดียวกันร้านค้าต่าง ๆ ก็หันมาเปิดขายบนออนไลน์เช่นกัน และเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในยุคตลาดดิจิทัลนี้ ทางศูนย์ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับ 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์ มาเตือนทุกคนเพื่อให้รู้เท่าทันจะไม่โดนหลอกลวง

📍 กลโกง 1 - หลอกโอนเงิน แต่ไม่มีสินค้าส่งจริง
เป็นปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าก็มาเป็นอันดับ 1 ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อ แนะนำให้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องการตั้งราคาที่ถูกเกินจริง เช็กข้อมูลชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคารของผู้ขายจากเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/ ว่าอยู่ในบัญชีดำคนโกงหรือไม่ รวมถึงลองนำชื่อร้านไปค้นหาบนแพลตฟอร์ม e-Commerce เช่น ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) ฯลฯ

📍 กลโกง 2 - สินค้าไม่ตรงปก จกตาเกินโฆษณา
การได้รับสินค้าที่ส่งมาไม่ตรงปก ผิดสี ผิดขนาด ไม่ได้อย่างที่ตกลงกัน รวมถึงติดต่อร้านเพื่อแจ้งเปลี่ยนก็ทำไม่ได้ สิ่งที่ควรทำเมื่อได้รับสินค้า แนะนำให้ถ่ายรูป และถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับร้องเรียนได้

📍 กลโกง 3 - จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม
ร้านมักจะโพสต์รูปสินค้าแบรนด์เนมแท้ขายบนช่องทางออนไลน์ หลอกให้ลูกค้าหลงกล มั่นใจว่า ฉันซื้อของแท้จริงๆ แต่สุดท้ายกลับได้สินค้าผิดกฎหมาย หรือสินค้าปลอมมาส่งที่บ้าน ดังนั้นแนะนำให้พิจารณาข้อมูลร้านค้าอย่างถี่ถ้วน ตรวจสอบรหัสสินค้า ใบรับประกันสินค้า ตรวจสอบบัญชีธนาคารก่อนโอน หรือติดต่อซื้อขายที่ร้านค้าทางการ (Official) ดีกว่า

📍 กลโกง 4 - กลโกงนักรับหิ้วของ
การมองหาคนมารับหิ้ว โดยยอมเสียเงินจ้างเพิ่มเล็กน้อยทดแทนการเสียค่ารถออกจากบ้านและความเสี่ยงเข้าไปในย่านชุมชนในยุคโควิด-19 ก็ทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ นี้ขึ้นมา แต่ทั้งนี้เราจะเชื่อใจผู้มาสวมบทรับหิ้วได้อย่างไร ดังนั้นควรตรวจสอบประวัติผู้รับหิ้วให้ดี เลี่ยงการจ้างวานผู้ที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวมารับหิ้วให้ หรือสั่งจากร้านโดยตรงจะดีกว่า

📍 กลโกง 5 - หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย
บางครั้งเหล่ามิจฉาชีพก็มากันเป็นทีม เนียนเป็นผู้คนส่งของ หลอกให้เซ็นรับพัสดุที่อาจเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย พร้อมจัดฉากเป็นตำรวจปลอมเข้าตรวจ ดังนั้นเมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ แนะให้ตั้งสติก่อน แล้วตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่ได้สั่งของ และห้ามรับสิ่งของที่ไม่ได้สั่งเด็ดขาด

📍 กลโกง 6 - ได้รับของชำรุด เสียหาย
การซื้อสินค้าออนไลน์อาจถือเป็นความเสี่ยง เช่น สินค้าที่ได้รับชำรุด เสียหาย สาเหตุมาจากต้นทางคือร้านค้า หรือระหว่างทางจากระบบการขนส่ง แนะนำให้ตรวจสอบกับทางร้านค้า อาจจะให้ร้านค้าช่วยถ่ายรูปส่งมาให้ดู เช็กประวัติการเดินทางของสินค้า และถ้าเป็นสินค้าเสี่ยงต่อการแตกหัก ทางร้านค้ามีการรับประกันความเสียหายแค่ไหน อย่างไร รวมทั้งเสิร์ชหาข้อมูลการรีวิวการขนส่งสินค้าของร้าน ตลอดจนเช็กบริษัทขนส่งว่ามีการรับประกันความเสียหายหรือไม่ เพื่อเสริมความมั่นใจก่อนซื้อ

📍 กลโกง 7 - หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์
ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มซื้อขายลอตเตอรี่ออนไลน์ถูกกฎหมาย เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการไปค้นหาสลากที่มีเลขตรงใจนอกบ้าน แต่การเสี่ยงดวงให้รวย ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่จะปะทะกับคนโกงที่มาในรูปแบบตัวแทนขายโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน ดังนั้นควรตรวจสอบข้อมูลตัวแทนที่เชื่อถือได้จริง แหล่งซื้อขายลอตเตอรี่ออนไลน์ รวมถึงตรวจเช็กเลขบนลอตเตอรี่ให้ถี่ถ้วน

📍 กลโกง 8 - สร้างโพรไฟล์หลอกเช่าพระบูชา
การเช่าซื้อพระบูชา เสริมโชคลาภ เรียกทรัพย์ เป็นมงคลให้ชีวิต ก็ยังเป็นเรื่องราวที่อยู่คู่คนไทยมาเสมอ ซึ่งการขายในยุคดิจิทัลแบบนี้ ต้องใช้เครื่องมือให้เป็นประโยชน์โดยขอวิดีโอคอลล์กับคนขายเพื่อดูพระให้ได้ เพราะบางรายก็พบว่าไม่มีพระอย่างที่โพสต์ หากเจอผู้ขายที่เกิดอาการบ่ายเบี่ยง บอกว่าตอนนี้พระไม่ได้อยู่กับตนเอง คาดการณ์ได้เลยว่า เราอาจกำลังจะโดนโกง

📍 กลโกง 9 - ขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์ แต่ไม่ได้รับสินค้า
การซื้อขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าขนาดใหญ่ หรือราคาสูงก็ยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกของผู้ซื้อสินค้า หากเจอร้านที่ให้ผ่อนให้ครบงวดแล้วร้านค้าจะดำเนินการจัดส่งสินค้ามาให้ผู้ซื้อ แต่อาจเกิดเหตุชวดได้รับสินค้า หรือร้านนำสินค้าที่เราผ่อนไปขายต่อ ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์ จึงควรพิจารณาเอกสารสัญญาซื้อขายที่แจ้งรายละเอียดชัดเจน หรือถ้าซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ควรเลือกร้านที่เป็นทางการ (Official) ดูรีวิวผู้ซื้อต่าง ๆ พร้อมตรวจสอบข้อมูลร้านและบัญชีผู้ขายอย่างรอบคอบ

📍 กลโกง 10 - หลอกขายต้นไม้ไม่ตรงรูป
วงการต้นไม้ที่กำลังร้อนแรง โดยเฉพาะไม้มงคล ไม้ประดับภายในบ้านในยุค Work From Home ไปถึง ไม้ด่าง ที่กำลังฮิตสุด ๆ แต่การโกงผ่านการซื้อขายออนไลน์ในวงการนี้ก็มีเช่นกัน สิ่งที่แนะนำคือควรเลือกร้านขายที่โพสต์รูปต้นไม้พร้อมมีป้ายระบุชื่อต้นไม้ หรือร้านที่เจ้าของร้านถ่ายภาพคู่ต้นไม้ จะเป็นการช่วยยืนยันเบื้องต้นได้ว่า ร้านและเจ้าของร้านนี้มีอยู่จริง และก่อนโอนชำระเงินแนะให้เจ้าของร้านถ่ายรูปคู่กับต้นไม้ โดยถือบัตรประชาชนหรือกระดาษที่เขียนเลขที่บัญชีธนาคารมาให้ดูอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อกลโกง

ที่มา : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)
#ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม #AntiFakeNewsCenter

บทความที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ พี่หมีมีคำแนะนำเกี่ยวกับการรีวิว (Review) ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาฝากทั้งผู้รีวิว และผู้ซื้อคร้าบบบ ~

ด้านผู้รีวิว ต้องตรวจสอบ...- ดูการบรรยายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ หากเกินจริงหรือโอ้อวดทำให้หลงเชื่อ จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย- สังเกตข้อความโฆษณาว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่

อ่านบทความนี้

6 จุดสังเกตร้านค้าออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ ซื้อแล้วไม่ถูกหลอก

1. มีการลงทะเบียนธุรกิจออนไลน์2. มีรีวิวที่ดี สังเกตจากกระทู้ เว็บไซต์ หรือทางโซเชียล3. มีอายุเว็บไซต์อย่างน้อย 1 ปี4. บอกรายละเอียด ราคาสินค้าครบถ้วน5. มีการรับประกันสินค้าระบุอย่างชัดเจน6. ขายสินค้า

อ่านบทความนี้

พี่หมี มีข่าวดี ... ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC มอบให้พี่หมี ETDA Bear ได้มีโอกาสดูแลทุกคนที่ร้องเรียนเข้ามาผ่านช่องทาง Facebook Massenger คร้าบบ ^^

หากพบปัญหากรณีซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ สามารถปรึกษาและแจ้งเรื่องได้ที่ "ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC" (1212 Online Complaint Center) โดย ETDA ใน 4 ช่องทาง ได้แก่   1) โทรศัพท์สา

อ่านบทความนี้