รู้ทันภัย การหลอกลวงซื้อขายออนไลน์
18 พ.ย. 2564 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
A ถูกลักลอบ / โจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิตระหว่างชำระเงินออนไลน์
A-1 ติดต่อธนาคารเจ้าของบัตร เพื่อระงับการใช้งาน
A-2 ทำลายบัตรเก่าทิ้ง โดยเฉพาะเน้นทำลายแถบแม่เหล็กและชิปบันทึกข้อมูลบนบัตร
A-3 ตรวจสอบกับทางธนาคารถึงการคืนเงิน ว่าสามารถทำได้หรือไม่ และต้องใช้หลักฐานอย่างไร ในการยืนยันว่าการทำธุรกรรมซื้อขายที่เป็นปัญหานั้นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของเราจริง ๆ
A-4 ลบข้อมูลบัตรเครดิต ที่เคยบันทึกไว้บนเว็บไซต์หรือระบบต่าง ๆ ที่ช่วยในการซื้อของออนไลน์ เพื่อเป็นการทำลายข้อมูลทั้งหมด
B เกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย กรณีปัญหาไม่ใหญ่ เช่น สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ สินค้าแตกหัก หรือได้รับสินค้าไม่ครบ
B-1 อ่านข้อกำหนดบนเว็บไซต์ที่ขายสินค้า ว่ามีนโยบายคืนสินค้า หรือ แก้ปัญหาเหล่านี้หรือไม่
B-2 หากชี้แจงไว้ก็ให้ทำตาม เพื่อแก้ปัญหา
B-3 แต่หากไม่ได้ชี้แจง ควรติดต่อผู้ขายและเจรจาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ขายอาจรับผิดชอบโดยการคืนเงิน การเปลี่ยนสินค้า หรือติดต่อหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภคเพื่อประสานและไกล่เกลี่ย
C เกิดข้อพิพาทเป็นการทำผิดโดยตั้งใจของผู้ขาย เช่น ผู้ซื้อจ่ายเงินแล้วแต่ผู้ขายไม่ส่งสินค้ามาให้แสดงถึงเจตนาไม่ดีของผู้ขาย
C-1 รวบรวมเอกสารทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นในการซื้อขายออนไลน์
C-2 เข้าแจ้งความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) โดยอาจจะชี้แจงกับตำรวจว่าขอดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และรับใบแจ้งความกลับมา
C-3 นำใบแจ้งความไปติดตามหาที่อยู่ของผู้ขาย ในกรณีที่ผู้ขายไม่แจ้งที่อยู่ที่ชัดเจนไว้ เช่น หากผู้ขายประกาศขายในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง ก็นำใบแจ้งความไปติดต่อผู้ดูแลเว็บบอร์ดเพื่อตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ขาย เช่น IP Address และ ISP ที่ผู้ขายใช้ ซึ่ง ISP ก็สามารถค้นหาตำแหน่งของผู้ขายได้จาก IP Address นั่นเอง หรืออาจจะติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัญชีเพื่อขอข้อมูลที่อยู่ได้เช่นกัน
C-4 นำหลักฐานเกี่ยวกับที่อยู่ที่ได้นี้ ไปแจ้งกับตำรวจอีกครั้ง เพื่อให้ตำรวจดำเนินการจับกุม
C-5 จับกุมแล้ว ขั้นตอนที่เหลือ คือ ขั้นตอนในชั้นศาล
แหล่งที่มา: สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน); https://www.etda.or.th/ecommerceweek2017/
ที่มา : 1212 OCC