อดีตศึกษานิเทศก์ ทำสวนเกษตรผสมผสานหลังเกษียณ ชีวิตดี มีเงินเหลือเก็บ

26 ส.ค. 2563 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
อดีตศึกษานิเทศก์ ทำสวนเกษตรผสมผสานหลังเกษียณ ชีวิตดี มีเงินเหลือเก็บ

การทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือไร่นาสวนผสม ไม่มีคำจำกัดความ ไม่มีกติกาหรือกฎตายตัว ว่าต้องเป็นพืชชนิดใด เลี้ยงสัตว์ชนิดใด ทั้งนี้ เพราะแต่ละพื้นที่และท้องถิ่นมีสภาพทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน เพียงแต่การผสมผสานนี้ขอให้ยึดหลัก สร้างความร่มรื่น แล้วให้พืชหลายชนิดที่ปลูกอยู่ในพื้นที่เดียวกันมีการเกื้อกูลกันทางธรรมชาติให้มากที่สุด และสำคัญที่สุดคือผู้ปลูกต้องได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วยังสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน

คุณจินดา ฟั่นคำอ้าย อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 2 ตำบลผาปัง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง อดีตศึกษานิเทศก์ จังหวัดลำปาง เป็นอีกท่านหนึ่งที่สนใจการทำเกษตรผสมผสาน แล้วตั้งใจเดินตามแนวทางนี้ในบั้นปลายชีวิต จึงวางแผนล่วงหน้าก่อนจะเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

อดีตศึกษานิเทศก์ท่านนี้ให้เหตุผลที่เลือกแนวทางการทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน เนื่องจากสมัยที่รับราชการได้มีโอกาสเดินทางไปดูงาน ตลอดจนศึกษาหาความรู้ด้านการทำเกษตรหลายแห่ง หลายด้าน ล้วนพบว่าการทำเกษตรกรรมแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวจะเกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายมาก เพราะรายได้ของการมีชีวิตแบบชาวไร่ ชาวนา ส่วนใหญ่เกิดจากการทำเกษตรกรรม แล้วเมื่อมีความเสียหายจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแล้ว พวกเขาจะได้รับผลกระทบโดยตรงทันที แล้วจะอยู่กันอย่างไร

“หนทางออกที่ดีที่สุดคือ การทำสวนเกษตรผสมผสาน ทั้งนี้ การผสมผสานอาจไม่มีกฎตายตัว ว่าต้องปลูกพืชชนิดใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่น”

กำหนดกิจกรรมในสวนเกษตรผสมผสานทุกชนิดต้องเป็นอินทรีย์เท่านั้น

คุณจินดา มีพื้นที่อยู่จำนวน 19 ไร่ ได้จัดสรรแบ่งพื้นที่การปลูกพืชชนิดต่างๆ รวมถึงยังได้ขุดบ่อเลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่ด้วย แล้วยังทำนาข้าวเหนียวนาปี พันธุ์ กข 6 จำนวนพื้นที่ 17 ไร่ ข้าวในนาของคุณจินดาปลูกเน้นความเป็นอินทรีย์ตั้งแต่เริ่มแรกที่ต้องดูแลบำรุงดินก่อนปลูกข้าวตามฤดูกาล โดยไม่มีการเผาตอซังแต่จะไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด แล้วปล่อยเศษฟางข้าวไว้กลางทุ่งเพื่อให้เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยในดิน อีกทั้งได้นำถั่วลิสงที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวแล้วนำมาเข้ากระบวนการทำปุ๋ยหมัก แล้วผสมกับฟางข้าว ขี้วัว ขี้ไก่ เศษใบไม้ ใส่ลงในดิน แนวทางนี้ทำให้ข้าวในนาของคุณจินดาได้ผลผลิตครั้งละประมาณ 250 ถุง (ถุงละ 42 กิโลกรัม) เขาบอกว่า เป็นผลผลิตที่สูงเพราะปลูกแบบอินทรีย์ด้วยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และต่างจากชาวบ้านแหล่งอื่นที่มักเผาตอซัง แล้วบ่นว่าได้ผลผลิตน้อย 

นอกจากนั้น สวนแห่งนี้ยังปลูกพืชสวนครัว ได้แก่ พริก ข่า ตะไคร้ หรือไม่เว้นแม้แต่พืชกินใบ อย่างกะหล่ำปลี ผักกาดดอก ซึ่งเป็นพืชที่เหมาะกับช่วงอากาศหนาว ดังนั้น จึงวางแผนปลูกพืชเหล่านี้ด้วยการเพาะไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วนำไปปลูกในพื้นที่ทำนาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วในช่วงปลายปี

อีกส่วนของพื้นที่สวนเกษตร คุณจินดาได้ทำเป็นสวนมะนาวพันธุ์ตาฮิติ มีทั้งแบบปลูกลงดินกับปลูกในวงบ่อ เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพราะต้องการเปรียบเทียบการเจริญเติบโต การให้ผลผลิต และความทนทาน โดยมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 80 ต้น ระยะปลูก 4 เมตร ต้นพันธุ์เป็นกิ่งตอน มีอายุปลูก 8 เดือน และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของมะนาวพันธุ์ตาฮิติ คือออกดอกติดผลตลอดปี โดยไม่ต้องใช้สารเร่ง มีการดูแลบำรุงต้นมะนาวและดินด้วยปุ๋ยคอก แกลบ ผสมกับมูลวัว มูลควาย นอกจากนั้น จะให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และฉีดน้ำสมุนไพรไล่แมลงปีละ 1 ครั้ง และใส่ปุ๋ยคอกปีละ 2 ครั้ง เจ้าของสวนบอกเหตุผลที่ต้องปลูกมะนาวพันธุ์นี้ เพราะต้องปลูกร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งจะมีผลกับการตลาด เนื่องจากมีภาคเอกชนมารับซื้อแบบทำสัญญารายปีกันในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่เหมาะสมเพราะเป็นการเฉลี่ยราคาทั้งปี ส่วนไก่ที่เลี้ยงมี 2 พันธุ์ คือ ไก่พื้นเมือง และไก่พันธุ์ประดู่หางดำ มีรวมกันทั้งหมด 100 กว่าตัว เป็นประดู่หางดำจำนวน 48 ตัว ทั้งนี้ ไก่ทั้งหมดจะปล่อยให้หากินตามธรรมชาติกับให้อาหารจากผักกะหล่ำปลี ผักบุ้ง กล้วย มาต้มผสมกับรำ มีบ่อปลาจำนวน 4 บ่อ เลี้ยงปลาสวาย ปลาจะละเม็ด และปลานิล แล้วนำพืชผักมาใช้เป็นอาหารปลา นอกจากนั้น มีรายได้เป็นรายปีอยู่กับสวนยูคาลิปตัสจำนวนหมื่นกว่าต้น บนเนื้อที่ 30 กว่าไร่

เดินตามแนวทางนี้แทบไม่ต้องใช้เงิน จึงมีเหลือออม

ชุมชนของคุณจินดาไม่มีตลาดหรือร้านค้า อีกทั้งยังมีความเป็นอยู่แบบชาวชนบท ซึ่งชาวบ้านแต่ละครัวเรือนมักทำเกษตรกรรมไว้บริโภคในครัวเรือนโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ ด้วยเหตุนี้แต่ละครัวเรือนจึงมักทำเกษตรแบบผสมผสาน ขณะเดียวกัน ถ้ามีผลผลิตมากเกินก็มักส่งเข้าไปขายในตลาด คุณจินดา เผยว่า วิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบนี้ถือเป็นความพอเพียง ครอบครัวของเขาแทบจะไม่ต้องใช้เงินเลย เพียงแต่อาจมีรายได้เกี่ยวกับวัสดุปรุงกับข้าว อย่าง กะปิ น้ำปลา น้ำตาลทราย ผงชูรส เท่านั้น ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ไม่มาก แล้วไม่ต้องซื้อบ่อย จึงมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง สร้างภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืน

“การที่สามารถบอกได้อย่างเต็มปาก เพราะประสบกับทุกสิ่งที่ปฏิบัติมาด้วยตัวเอง และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทุกอย่างที่ในหลวงทรงมอบให้ชาวบ้านเป็นของจริง เพราะทุกวันนี้ชีวิตมีความพอเพียงจริง มีเงินเหลือออมจริง”

ภายใต้กรอบของวิถีพอเพียงที่จะต้องนำทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่มาทำเกษตรกรรม คุณจินดานำแกลบจากข้าวที่ปลูกมาเผาแล้วจะนำไปใช้ในการผสมปุ๋ยและเป็นวัสดุปลูกพืช มีการเผาถ่านเองจากต้นไม้ในละแวกบ้านเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง แล้วยังนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ประโยชน์ด้วย

ที่มา: technologychaoban

อ่านเพิ่มเติม: คลิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ล้ำไปอีกขั้น!! สตาร์ทอัพเมกาปั้นหุ่นยนต์ปลูกผัก ลดขั้นตอนที่ใช้คน แถมช่วยประหยัดน้ำ

อุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะหากสามารถผลิตผล หรือมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยยกระดับก็จะทำให้สามารถสร้างแหล่งอาหารที่มีประสิทธิภาพของผู้คนปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเทคโนโลยีที่

อ่านบทความนี้

ใครเคยลองแล้วบ้าง?! "น้ำมันขี้ม้อน" สุดยอดไอเท็มเด็ดแห่งปี สรรพคุณช่วยต้านมะเร็ง บำรุงสมอง

ดร.กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า นาโนเทค ร่วมกับศูนย์วิจ

อ่านบทความนี้

เปิดตัวข้าว 4 พันธุ์ใหม่ ชูจดเด่นให้ผลผลิตสูง-เริ่มจไหน่ายให้เกษตรกรธันวาคม

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีผู้บริหาร ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการพิจารณารับรอ

อ่านบทความนี้