แปลงโรงสีข้าวสู่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

04 ส.ค. 2563 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
แปลงโรงสีข้าวสู่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

“ถ้าคุณไม่ดูแลป่า น้ำไม่มี คุณก็จะไม่ได้ใช้” คุณเดชา นทีไท เจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป เกริ่นถึงความสำคัญของการดูแลป่าต้นน้ำของชุมชนให้มีน้ำเพียงพอสำหรับใช้กับโรงสีข้าวพลังน้ำที่ดัดแปลงให้ใช้ผลิตไฟฟ้าไปได้พร้อม ๆ กัน

โดยแต่เดิมผืนดินอันเป็นถิ่นฐานของชาวปกาเกอะญอ ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหารุกผืนป่าต้นน้ำจนเสื่อมโทรม ก่อนชาวบ้านหันมาจับมือกันและได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมด้วยมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์จนพลิกฟื้นผืนป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จนได้รับการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ แห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2557

คุณเดชาเล่าให้ฟังว่า การที่ชุมชนร่วมด้วยช่วยกันดูแลแหล่งน้ำสำคัญ โดยเฉพาะลำห้วยแม่ละอุปทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่กลับมามีน้ำกินน้ำใช้ และมีน้ำเพื่อการเกษตรเพียงพอ การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าชุมชน มีการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดทำแผนที่น้ำ คำนวณสมดุลน้ำ วิเคราะห์และวางแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น และมีการติดตั้งโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อดูปริมาณน้ำฝนและช่วยเตือนภัย

ที่สำคัญมีการวางระบบกระจายน้ำด้วยภูมิปัญญาในการผันน้ำและกระจายน้ำจากพื้นที่สูงผ่านนาขั้นบันไดสู่พื้นที่เกษตรและพื้นที่ชุมชน น้ำที่ส่งผ่านแปลงนาขั้นบันไดส่งต่อให้แปลงนาถัดไปใช้น้ำซ้ำได้ และกระจายน้ำผ่านท่อลอดใต้ถนน นำน้ำไปใช้ทำเกษตร รวมถึงใช้ในโรงสีข้าวพลังน้ำประจำชุมชน

โรงสีข้าวดังกล่าวเดิมเป็นศูนย์กลางการสีข้าวภายในชุมชน ซึ่งชาวชาวปกาเกอะญอจะนิยมปลูกข้าวพื้นถิ่นที่มีลักษณะเมล็ดสั้น เหนียวนุ่ม คล้ายข้าวญี่ปุ่น โดยจะปลูกสำหรับบริโภคเป็นหลัก แต่ภายหลังหลายครอบครัวมีโรงสีข้าวของตนเอง ทำให้โรงสีข้าวส่วนกลางที่มีอยู่เดิมเริ่มถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้งาน ทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จึงแนะนำปรับปรุงเครื่องสีข้าวพลังน้ำให้เป็นเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำสำหรับทำเกษตร

โดยเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำมีความสูงหัวน้ำ 10 เมตร มีกำลังผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 7 กิโลวัตต์ (KW) ที่แรงดันไฟฟ้า 230 โวลต์ ได้กระแสไฟฟ้า 30 แอมป์ (A) โดยเครื่องสูบน้ำใช้ไฟ 1.5 กิโลวัตต์ ระหว่างทางมีจุดจ่ายไฟให้ชุมชนเพื่อประโยชน์จากไฟฟ้าในด้านอื่น ๆ อย่างเพียงพอ

การผลิตไฟฟ้าโดยเครื่องสีข้าวพลังน้ำใช้การผันน้ำบางส่วนจากห้วยแม่แจ่ม ไหลผ่านลำเหมือง เก็บกักน้ำไว้ที่สระเก็บน้ำ มีอาคารบังน้ำ บังคับน้ำเข้าสู่ท่อพีวีซี เส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร ความยาวท่อ 150 เมตร ที่ระดับความสูงที่ปากท่อเทียบกับกังหันน้ำ 10 เมตร นำพลังงานที่ได้จากกังหันน้ำมาขับเคลื่อนโรงสีข้าว ผ่านระบบสายพาน และสามารถนำพลังงานที่ได้จากกังหันน้ำมาใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อสูบส่งน้ำไปยังถังสำรองน้ำที่ระดับความสูง 50–60 เมตร

พลังงานไฟฟ้าที่ได้ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 15 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรรวม 50 ไร่ หลายรายมีการปรับเปลี่ยนจากการทำพืชเชิงเดี่ยว เช่นการปลูกถั่วชนิดต่าง ๆ สู่การปลูกพืชผสมผสานตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการปลูกพืชผักหลายหลายชนิด เลี้ยงสัตว์ มีแปลงทำเกษตรขนาด 5 ไร่ ของคุณเดชาเป็นต้นแบบ ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการดูแลผืนป่าต้นน้ำ และไร้ซึ่งน้ำอันเป็นพลังงานหมุนเวียนและเส้นเลือดสำคัญของชุมชนชาวปกาเกอะญอแห่งนี้

ที่มา: เกษตรกรก้าวหน้า

บทความที่เกี่ยวข้อง

ล้ำไปอีกขั้น!! สตาร์ทอัพเมกาปั้นหุ่นยนต์ปลูกผัก ลดขั้นตอนที่ใช้คน แถมช่วยประหยัดน้ำ

อุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะหากสามารถผลิตผล หรือมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยยกระดับก็จะทำให้สามารถสร้างแหล่งอาหารที่มีประสิทธิภาพของผู้คนปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเทคโนโลยีที่

อ่านบทความนี้

ใครเคยลองแล้วบ้าง?! "น้ำมันขี้ม้อน" สุดยอดไอเท็มเด็ดแห่งปี สรรพคุณช่วยต้านมะเร็ง บำรุงสมอง

ดร.กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า นาโนเทค ร่วมกับศูนย์วิจ

อ่านบทความนี้

เปิดตัวข้าว 4 พันธุ์ใหม่ ชูจดเด่นให้ผลผลิตสูง-เริ่มจไหน่ายให้เกษตรกรธันวาคม

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีผู้บริหาร ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการพิจารณารับรอ

อ่านบทความนี้