กยศ. พักชำระหนี้ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

21 ก.ย. 2562 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กยศ. พักชำระหนี้ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก กองทุนขอแสดงความห่วงใยและเป็นกำลังใจให้แก่ผู้กู้ยืมเงินและผู้ประสบภัยในพื้นที่ดังกล่าว

ขณะนี้ กองทุนได้ออกประกาศหลักเกณฑ์พิจารณาความเสียหายของทรัพย์สินอย่างรุนแรงกรณีเป็นผู้ประสบภัยพิบัติหรือการเป็นผู้มีรายได้ถดถอย หรือมีความจำเป็นต้องดูแลบุคคลในครอบครัว ซึ่งชราภาพ ป่วยหรือพิการ เพื่อขอผ่อนผันการชำระเงินคืนกองทุนสำหรับผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้ ดังนี้

กรณีผู้กู้ยืมเป็นผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งทรัพย์สินได้รับความเสียหายรุนแรง จากอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ รวมถึงภัยจากสงครามหรือจลาจล ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยพิบัติสาธารณภัยต้องเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามที่กำหนดเขตประสบภัยพิบัติจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือจังหวัด และมีหลักฐานที่รับรองว่าเป็นผู้ประสบภัยจริงภายใน 1 ปีนับจากวันที่ประสบภัยพิบัติ และทรัพย์สินได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ

สำหรับกรณีนี้ สามารถขอผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 คราวๆละไม่เกิน 1 ปี รวมระยะเวลาแล้วไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุมัติ โดยช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้ยืมไม่ต้องชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยกองทุนจะยกเว้นเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันแล้ว กองทุนจะนำยอดหนี้ที่คงเหลือนับแต่วันที่สิ้นสุดการผ่อนผันมาคำนวณใหม่ และให้ชำระตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญากู้ยืมเงินเดิม

กรณีเป็นผู้มีรายได้ถดถอย ต้องเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย หักเงินเข้ากองทุนที่ผู้กู้ยืมเงินต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และเมื่อหักจำนวนเงินงวดที่ครบกำหนดชำระคืนกองทุนในปีนั้นมาเฉลี่ยเป็นรายเดือน แล้วมีเงินเหลือไม่เกินเดือนละ 2,500 บาท

กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินที่มีความจำเป็นต้องดูแลบุคคลในครอบครัวซึ่งชราภาพ ป่วย หรือพิการ ต้องเป็นผู้มีรายได้คงเหลือหลังจากการหักค่าใช้จ่ายที่ใช้ดูแลบุคคลในครอบครัว ซึ่งชราภาพ ป่วย หรือพิการแล้ว เหลือไม่เกิน 8,008 บาทต่อเดือน กรณีชราภาพ ได้แก่ บิดา มารดา อายุตั้งแต่ 70 ปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้ กรณีป่วย ได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย และผู้สืบสันดาน ซึ่งป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงจนไม่สามารถประกอบการงานได้ ทั้งนี้ ให้ใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้กู้ยืมซึ่งป่วยเป็นโรคเรื้อรังดังกล่าวตามประกาศที่กองทุนกำหนด

สำหรับกรณีเป็นผู้มีรายได้ถดถอย และกรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินที่มีความจำเป็นต้องดูแลบุคคลในครอบครัวซึ่งชราภาพ ป่วย หรือพิการ ให้ผู้กู้ยืมทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญากู้ยืมเงินกับกองทุนและถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งในบันทึกข้อตกลงนั้นต้องมีลายมือชื่อผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมให้ผ่อนผันด้วย โดยผู้กู้ยืมเงินยอมรับเงื่อนไขใหม่ในการชำระเงินคืนกองทุน ดังนี้

1. ขยายระยะเวลาในการชำระเงินคืน / ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
- มูลหนี้รวมคงเหลือไม่เกิน 1 แสนบาท ขยายเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 1.5 เท่า ของระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญากู้ยืมเงินเดิม
- เกิน 1 แสน แต่ไม่เกิน 2 แสน ขยายไม่เกิน 2 เท่า
- เกิน 2 แสน ขยายไม่เกิน 2.5 เท่า

2. ชำระหนี้เป็นรายเดือน

3. หากผิดนัดชำระหนี้การขยายเวลาสิ้นผล ผู้กู้ยืมต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาตามสัญญากู้ยืมเงินเดิม และเสียเบี้ยปรับร้อยละ 1.5/เดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ

นอกจากนี้ กองทุนได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การขอระงับการเรียกให้ชำระหนี้ สำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบการงานได้ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงจนไม่สามารถประกอบการงานได้ มีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการประกอบอาชีพการงานไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หรือไม่เกิน 2,500 บาทต่อเดือน สามารถขอให้กองทุนพิจารณาระงับการเรียกให้ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 1 ปี โดยผู้กู้ยืมต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. พิการหรือทุพพลภาพไม่สามารถประกอบการงานได้ ได้แก่ ความพิการทางการเห็น การได้ยินหรือสื่อความหมาย การเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จิตใจหรือพฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ และออทิสติก

2. เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจนไม่สามารถประกอบการงานได้ ได้แก่ กาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ไข้เวสต์ไนล์ ไข้เหลือง โรคไข้ลาสซา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โรคไวรัสติดเชื้ออีโบลา โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดราโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก และโรคเอดส์

3. เป็นโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง จนไม่สามารถประกอบการงานได้ ได้แก่ โรคมะเร็งระยะสุดท้าย โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ โรคเยื่อหุ้มสมองและ ไขสันหลังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โรคไวรัสตับอักเสบขั้นรุนแรง โรคหลอดเลือดสมองแตกและอุดตัน และโรคตับวายระยะสุดท้าย

4. เป็นผู้ที่ได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต

5. เป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและกองทุนได้ดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแล้ว

ผู้กู้ยืมที่ประสงค์ขอผ่อนผันหรือขอระงับการเรียกให้ชำระหนี้ สามารถดูรายละเอียดคุณสมบัติตามประกาศเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กองทุนกำหนด และยื่นเอกสารหลักฐานให้กองทุนพิจารณาโดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.studentloan.or.th สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0 2016 4888 หรือ Line@กยศ.

ที่มา: ข่าวจริงประเทศไทย

ดาวโหลดแอปพลิเคชัน เพื่อสะสมแต้มแลกของรางวัลแลกเลยไม่ต้องลุ้น
Android
IOS

บทความที่เกี่ยวข้อง

ลมหนาวระลอกใหม่มาแน่! 20 - 25 ธ.ค. นี้ ทั่วไทยอุณหภูมิลดลง 2 - 8 องศาฯ

กรมอุตุนิยมวิทยา เผยช่วงวันที่ 20 - 25 ธ.ค. 66 มวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนดูแลรักษ

อ่านบทความนี้

ย้ำเตือนประชาชน อย่าหลงกลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ พบมูลค่าความเสียหายกว่า 50,000 ล้านบาท

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกรัฐบาล ย้ำเตือนประชาชน ตั้งสติ อย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ที่ใช้อุบายหลอกลวง สร้างความน่าเชื่อถือในหลายรูปแบบ แม้รัฐบาลได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่า

อ่านบทความนี้

เชิญมาเที่ยวงาน "เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2566" น้ำพระทัยสองพระมิ่งขวัญเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เปี่ยมล้นพระเมตตาผู้ประสบอุทกภัย

งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2566 สถานที่ใหม่ เดินทางสะดวกกว่าเดิม เดินทางมาเที่ยวงานสะดวกมาก ทั้งรถสาธารณะ และรถส่วนตัว ที่จอดรถกว้างขวาง ภายในงานติดแอร์ตลอดทั้งงาน ไม่ต้องกลัวร้อน กลัวฝน   งานเริ่มแ

อ่านบทความนี้