สกศ. ถอดองค์ความรู้เร่งสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายพัฒนาระบบการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted)

16 ส.ค. 2562 / กระทรวงศึกษาธิการ
สกศ. ถอดองค์ความรู้เร่งสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายพัฒนาระบบการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted)

       วันนี้ (๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย "การศึกษาสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย กรณีผู้มีความสามารถพิเศษ" โดยมีเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เป็นประธานเปิดการประชุม ได้รับเกียรติจากรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์) ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการศึกษา และผู้แทนหน่วยงานจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ.

       ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ตระหนักถึงความสำคัญของผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted) และเชื่อมั่นว่ามีหลากหลายวิธีการในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสมรรถนะของผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับที่มีการบัญญัติไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐ เชื่อมโยงกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ โดยขับเคลื่อนผ่านแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา นอกจากนี้ สกศ. ยังมองไปถึงการเข้าไปจัดการศึกษาผู้เรียนกิฟเต็ดที่อยู่ในกลุ่มที่หลุดจากการศึกษาในระบบ ซึ่งพบว่ามีจำนวนสูงถึงปีละ ๒ ล้านคน

       ดร.สุภัทร จำปาทอง กล่าวต่อว่า แม้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเร่งขยายโอกาสทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ผู้เรียนกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนที่เป็นระบบ สามารถจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทและสมรรถนะของผู้เรียน และเชื่อมั่นว่าการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อใช้พัฒนาเป็นนโยบายสู่ฝ่ายการเมืองเพื่อขับเคลื่อนงานที่เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

       รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ นักวิจัยในโครงการศึกษาสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย กรณีผู้มีความสามารถพิเศษของ สกศ. กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จที่นานาชาติใช้จัดการศึกษาสำหรับผู้เรียน Gifted ที่มีผลต่อความก้าวหน้าของประเทศมี ๓ ด้าน ๑) นโยบายถูกริเริ่มจากผู้นำรัฐบาลที่นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากร และปรับเปลี่ยนระบบหรือกฎหมาย ภาษี ฯลฯ เพื่อให้เอื้อต่อการบริหารจัดการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ๒) ระบบกฎหมายที่มีความเข้มแข็งและสามารถบังคับใช้ได้จริง และ ๓) ความมุ่งมั่นของนักวิชาการที่นำนโยบายของรัฐมาสู่ภาคปฏิบัติ จากการบูรณาการศาสตร์ทุกด้านเข้ามาพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี

       รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ กล่าวต่อว่า ประเทศชั้นแนวหน้าของโลกที่มีสมรรถนะขีดความสามารถสูงในเวทีการแข่งขันโลก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมนี ไต้หวัน สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร รวมถึงสหรัฐอเมริกา ล้วนมีองค์ประกอบจากปัจจัยทั้ง ๓ ด้านดังกล่าว ขณะที่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และเวียดนาม ที่กำลังไต่อันดับในระดับการแข่งขันอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ต่างก็มีกระบวนการดำเนินการที่มีปัจจัยบางด้านที่สนับสนุนให้เกิดโครงการพัฒนาคนที่เพิ่มขีดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามเป้าหมายส่งผลให้ผู้เรียนบางคนประสบความสำเร็จในเวทีโลก สวนทางกับ อินเดีย ตุรกี เม็กซิโก รัสเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา รวมทั้ง ไทย ยังไม่สามารถดำเนินงานและพัฒนาการบริหารจัดการไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ

       ทั้งนี้ สภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับผู้เรียน Gifted ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยในระยะที่ผ่านมา แม้ว่าจะเริ่มมีความชัดเจนใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และฉบับที่เกี่ยวข้อง และปรากฏในแผนการศึกษาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน แต่การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติไม่สมบูรณ์ ขาดประสิทธิภาพเทียบเท่าการจัดการศึกษาในประเทศอื่น ๆ เนื่องจากขาดการบูรณาการ ขาดเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนประสานงาน รวมทั้งองค์ความรู้ของ สกศ. ที่ได้ดำเนินการวิจัยและนำร่องพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษา หรือกรอบมาตรฐานสถานศึกษา ไม่มีการสานต่อจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขาดการพัฒนา เช่น แบบวัดแววความสามารถพิเศษ หรือเครื่องมือทดสอบวินิจฉัยอัจฉริยภาพด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้ถูกนำไปใช้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนผู้บริหารทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง

       สำหรับสาระสำคัญการระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียน Gifted ปัจจุบัน คณะนักวิจัย ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ดร.รุ่งเรือง สุขาภิรมย์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี วิริยะจิตรา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้แทนหน่วยงานจัดการศึกษา ในหลายประเด็น อาทิ ด้านนโยบาย เพื่อขยายโอกาสสำหรับผู้เรียน Gifted และจัดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบที่มีความรู้ความเข้าใจดูแลอย่างใกล้ชิด ด้านการจัดการเรียนการสอน ควรส่งเสริมหลักสูตรขยายประสบการณ์ที่ยังต้องการการพัฒนาต่อยอดในการจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ และการให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมผลักดันผู้เรียนกลุ่มนี้ ด้านบุคลากร เร่งพัฒนาครูที่มีความรู้ความสามารถบางวิชา รวมถึงนักจิตวิทยาประจำสถานศึกษา และในบางสาขาวิชาที่ผู้เรียน Gifted ต้องการเรียนรู้ เช่น กอล์ฟ สเก็ตน้ำแข็ง โรงเรียนยังขาดครูวิชาดังกล่าว เป็นต้น

ที่มา

รูปภาพเพิ่มเติม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ลมหนาวระลอกใหม่มาแน่! 20 - 25 ธ.ค. นี้ ทั่วไทยอุณหภูมิลดลง 2 - 8 องศาฯ

กรมอุตุนิยมวิทยา เผยช่วงวันที่ 20 - 25 ธ.ค. 66 มวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนดูแลรักษ

อ่านบทความนี้

ย้ำเตือนประชาชน อย่าหลงกลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ พบมูลค่าความเสียหายกว่า 50,000 ล้านบาท

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกรัฐบาล ย้ำเตือนประชาชน ตั้งสติ อย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ที่ใช้อุบายหลอกลวง สร้างความน่าเชื่อถือในหลายรูปแบบ แม้รัฐบาลได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่า

อ่านบทความนี้

เชิญมาเที่ยวงาน "เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2566" น้ำพระทัยสองพระมิ่งขวัญเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เปี่ยมล้นพระเมตตาผู้ประสบอุทกภัย

งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2566 สถานที่ใหม่ เดินทางสะดวกกว่าเดิม เดินทางมาเที่ยวงานสะดวกมาก ทั้งรถสาธารณะ และรถส่วนตัว ที่จอดรถกว้างขวาง ภายในงานติดแอร์ตลอดทั้งงาน ไม่ต้องกลัวร้อน กลัวฝน   งานเริ่มแ

อ่านบทความนี้