เตือน นักท่องเที่ยว ไม่ควรลงเล่นน้ำทะเลช่วงมรสุม เสี่ยงจม ระมัดระวังคลื่นลมแรง แนะ สังเกตธง เพื่อความปลอดภัย
04 ส.ค. 2566 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเป็นช่วงฤดูฝน จังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลจะเป็นช่วงหน้ามรสุม ส่งผลให้ทะเลมีคลื่นลมแรงไม่สามารถเล่นน้ำได้ หรือหากจะเล่นน้ำให้เล่นในบริเวณที่กำหนด และต้องระวังคลื่นลมแรง กระแสน้ำย้อนกลับ คลื่นทะเลดูด หรือคลื่นดอกเห็ด ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้แทบทุกหาด จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์จมน้ำ ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่าในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2566 พบมีเหตุการณ์จมน้ำบริเวณทะเลทั้งสิ้น 6 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวม 8 ราย จมน้ำแต่ไม่เสียชีวิตอีก 12 ราย สาเหตุเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำ และฝ่าฝืนลงเล่นในบริเวณจุดปักธงแดงแจ้งเตือนอันตราย
ทั้งนี้ ได้แนะนำนักท่องเที่ยวให้สังเกต “ธง” สัญลักษณ์คำเตือนในการลงเล่นน้ำทะเล ที่ปักไว้บริเวณชายหาด ซึ่งธงต่างๆ มีความหมาย ดังนี้
ธงแดง 2 ผืน หมายถึง มีความอันตรายมาก ห้ามลงเล่นน้ำเด็ดขาด
ธงแดง 1 ผืน หมายถึง อันตราย ห้ามลงเล่นน้ำ
ธงเหลือง หมายถึง ให้เล่นน้ำด้วยความระมัดระวัง
ธงเหลือง-แดง หมายถึง บริเวณนี้มีเจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ (Lifeguard) สามารถเล่นน้ำได้
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนประชาชน ให้เกิดความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำและลดความสูญเสีย จึงขอแนะนำประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศก่อนเดินทางท่องเที่ยว ตรวจสอบแหล่งน้ำก่อนลงเล่น ดูระดับน้ำ ความแรงของคลื่น กระแสน้ำย้อนกลับหรือคลื่นทะเลดูด รวมถึงสัตว์มีพิษต่างๆ เล่นน้ำในบริเวณที่กำหนดไว้ หรือบริเวณที่มีเจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ (Lifeguard) ไม่เล่นน้ำขณะหรือหลังฝนตก สวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง สำหรับเด็ก ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยเด็ก เล่นน้ำตามลำพัง
ที่มา : NNT สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์