FTA หนุนส่งออกผักไทยไปจีน ไตรมาสแรกโตเกือบเท่าตัว

11 มิ.ย. 2564 / กระทรวงพาณิชย์
FTA หนุนส่งออกผักไทยไปจีน ไตรมาสแรกโตเกือบเท่าตัว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้! FTA ช่วยส่งออกผักไทยไปตลาดจีน ไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นถึง 96% นำโด่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1 ของไทย ส่วนตลาดอาเซียน เกาหลีใต้ ขยายตัวได้ดีเช่นกัน มันสำปะหลัง พริก สินค้ายอดฮิต หวังไทยเจรจาลดภาษีได้เพิ่มขึ้นใน RCEP 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าผักสดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งของไทยไปจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 18 ประเทศ ที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 471 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 96% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยมีสัดส่วนถึง 81% ของการส่งออกผักไปโลก นอกจากจีนแล้ว ยังมีตลาด FTA ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ อาเซียน มูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (+60%) ฮ่องกง มูลค่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐ (+1) เกาหลีใต้ มูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (+23%) และอินเดีย มูลค่า 0.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (+12%)

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่ไทยส่งออกไปตลาด FTA ได้เพิ่มขึ้น อาทิ มันสำปะหลังสดแห้งหรืออัดแข็ง มูลค่า 387 ล้านเหรียญสหรัฐ (+86%) โดยมีจีนและญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก พริกสดและแช่เย็น มูลค่า 31 ล้านเหรียญสหรัฐ (+708%) โดยมีจีน และมาเลเซียเป็นตลาดหลัก และข้าวโพดอ่อนสดหรือแช่เย็น มูลค่า 9 ล้านเหรียญสหรัฐ (+13%) โดยมีญี่ปุ่น และสิงคโปร์เป็นตลาดหลัก

นางอรมน กล่าวว่า นอกจากความได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่สมบูรณ์ เหมาะกับการเพาะปลูกพืชผักที่หลากหลาย รวมทั้งศักยภาพของเกษตรกรและผู้ประกอบการช่วยให้ไทยขยายส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นได้ FTA ที่ไทยมีอยู่ 13 ฉบับกับ 18 ประเทศถือว่ามีส่วนสำคัญเช่นกัน จากการที่ประเทศผู้นำเข้าได้ลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าให้ไทย โดยปัจจุบัน 13 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น  ชิลี เปรู และอาเซียน 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา และบรูไน ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับผักสด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งที่ส่งออกจากไทยแล้ว ส่วนอีก 5 ประเทศ ยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าผักบางชนิดจากไทย อาทิ เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้า มะเขือเทศ กะหล่ำปลี 5% พริกหวาน 270% กระเทียม 360% รวมทั้งใช้โควตาภาษีกับมันสำปะหลังสดแช่เย็นและแห้ง อินเดีย เก็บภาษีนำเข้ามะเขือเทศ พริก แครอท ข้าวโพดหวานแช่แข็ง ถั่วแช่แข็ง 30% กระเทียม 100% และหอมหัวใหญ่ 5%  กัมพูชา เก็บภาษีนำเข้ามะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ กะหล่ำปลี ถั่ว แครอท 5%  ลาว เก็บภาษีนำเข้า มะเขือเทศ หัวหอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วและข้าวโพดหวานแช่แข็ง 5% และฟิลิปปินส์ เก็บภาษีนำเข้ามันเทศ 5% ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าพืชผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งอันดับที่ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก

นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีการลงนามไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ไทยสามารถเจรจาและผลักดันให้คู่เจรจา FTA ลดภาษีให้ไทยได้เพิ่มขึ้น เช่น เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีนำเข้ามันสำปะหลังแช่แข็ง จาก 45% เหลือ 0% ภายใน 20 ปี กัมพูชา จะทยอยลดภาษีนำเข้ามะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ กะหล่ำปลี และถั่ว เหลือ 0% ภายใน 20 ปี

ทั้งนี้ ในปี 2563 ไทยส่งออกพืชผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งสู่ตลาดโลกรวม 1,006 ล้านเหรียญสหรัฐ (+16%) จากปี 2562 ส่วนไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) ไทยส่งออกพืชผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งสู่ตลาดโลกรวม 506 ล้านเหรียญสหรัฐ (+71%) จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ตลาดส่งออกสำคัญ คือ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น

 

---------------------------------------

 

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

24 พฤษภาคม 2564

บทความที่เกี่ยวข้อง

ล้ำไปอีกขั้น!! สตาร์ทอัพเมกาปั้นหุ่นยนต์ปลูกผัก ลดขั้นตอนที่ใช้คน แถมช่วยประหยัดน้ำ

อุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะหากสามารถผลิตผล หรือมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยยกระดับก็จะทำให้สามารถสร้างแหล่งอาหารที่มีประสิทธิภาพของผู้คนปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเทคโนโลยีที่

อ่านบทความนี้

ใครเคยลองแล้วบ้าง?! "น้ำมันขี้ม้อน" สุดยอดไอเท็มเด็ดแห่งปี สรรพคุณช่วยต้านมะเร็ง บำรุงสมอง

ดร.กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า นาโนเทค ร่วมกับศูนย์วิจ

อ่านบทความนี้

เปิดตัวข้าว 4 พันธุ์ใหม่ ชูจดเด่นให้ผลผลิตสูง-เริ่มจไหน่ายให้เกษตรกรธันวาคม

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีผู้บริหาร ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการพิจารณารับรอ

อ่านบทความนี้