มะตาด หรือ แอปเปิ้ลมอญ ต้นไม้อนุรักษ์ของคนรามัญ

23 ก.ค. 2563 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
มะตาด หรือ แอปเปิ้ลมอญ ต้นไม้อนุรักษ์ของคนรามัญ

“มะตาด”  เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้น ที่คนไทยเชื้อสายมอญต่างรู้จักกันมาเนิ่นนาน สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่บางคน เรียกลูกมะตาดว่า แอปเปิ้ลมอญ เพราะผลสวยและมีรสเปรี้ยวๆคล้ายแอปเปิ้ลฝรั่ง จนเรียกกันติดปากว่า  “มะตาด คือ แอปเปิ้ลมอญ ” นั่นเอง  เนื่องจาก  ต้นมะตาด มักจะให้ผลผลิตในช่วงปลายปี ระหว่างเดือน สิงหาคม – ตุลาคม ดังนั้น ชาวไทยเชื้อสายมอญจึงนิยมแกงมะตาดเป็นอาหาร เรียกว่า 1 ปี ได้กินแกงมะตาดกันหนเดียว

มะตาด (matat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dillenia indica Linn. สามารถพบตามภาคต่างๆ ของไทย ภาคเหนือ พบที่เชียงใหม่ เรียกว่า ส้านป้าว อีสาน พบที่สุรินทร์ ภาคกลางพบในจังหวัดปทุมธานี กาญจนบุรี และปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ภาคใต้ พบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และพังงา เรียกว่า แส้น  นอกจากนี้ มะตาด ยังมีชื่อเรียกตามพื้นเมืองว่า ส้านกวาง ส้านท่า ส้านใหญ่ ส้มปรุ และชื่อทั่วๆ ไป เรียกว่าส้าน

มะตาดเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในป่าดิบชื้น หรือป่าฝนเขตร้อนใกล้แม่น้ำ ป่าพรุ ในภาคใต้ของไทยนอกจากนี้ ยังการกระจายตัวของต้นมะตาด อยู่ในประเทศต่างๆ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ยูนนาน คาบสมุทรมาลายู ลาว เวียดนาม กัมพูชา ชวา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะตาดเป็นไม้ไม่ผลัดใบ เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางสูง 15 ม. ใบยาว 15-36 ซม. เส้นใบเห็นเด่นชัด ดอกมีขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 15-20 ซม.มีกลีบดอก 5 กลีบ สีขาว มีเกสรตัวผู้สีเหลือง ผลกลมมีขนาดใหญ่ สีเหลืองแกมเขียว สามารถรับประทานได้ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-12 ซม. ประกอบด้วย 15 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมี 5 เมล็ด

มะตาด เป็นพืชสมุนไพร

ตำราสรรพคุณยาโบราณ พบว่า มะตาด ต้านการชัก ลดระดับน้ำตาลในเลือด ยาระบาย แก้ปวดท้อง แก้ไอ ขับเสมหะ และถอนพิษไข้  คนไทยเชื้อสายมอญในอดีต นิยมนำใช้  รากมะตาด  เป็นยาถอนพิษจากแมลงกัดต่อย เปลือกและใบมีรสฝาดใช้เป็นยาสมานแผลได้ดี  เมือกที่ผลมะตาดมีลักษณะเป็นวุ้น ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะ ขับถ่ายสะดวก จากการศึกษาวิจัยพบว่า มะตาดเป็นพืชสมุนไพรมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา เช่น ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราหรือการบำบัดรักษาโรคต่างๆ

ลูกมะตาดใช้ทำอาหาร

มะตาดผลสด มีรูปร่างเกือบกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 นิ้ว ไม่แตก มีกลีบเลี้ยงหุ้ม มะตาด มี 2 ชนิดคือ มะตาดข้าวเจ้า เนื้อหยาบกระด้าง มีเส้นกากมาก ลูกสีเขียวอ่อน และมะตาดข้าวเหนียว เนื้อนิ่ม เส้นกากน้อย สีเขียวเข้ม รสเปรี้ยวอมฝาด ชาวมอญนิยมนำมะตาดข้าวเหนียวมาแกง ทั้งแกงส้มและแกงคั่ว  ผลสุกมีรสเปรี้ยว นิยมใส่ในแยมและเจลลี่

โรงเรียนวัดหงส์ฯ อนุรักษ์ต้นมะตาด

โรงเรียนวัดหงส์ปทุมาวาส ตำบลบางปรอก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี  อยู่ในแหล่งชุมชนคนไทย เชื้อสายมอญ จึงปลูกต้นมะตาดเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ให้นักเรียนได้ศึกษา เพราะต้นมะตาดหากพิจารณาให้ดีสวยทั้งต้นและใบ ผลอ่อนๆ นำมาแกงมะตาด ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของชาวไทยเชื้อสายมอญ หากมีผู้ต้องการไปชมต้นมะตาด หรือศึกษาชุมชนมอญ สามารถสอบถามได้ที่ โรงเรียนวัดหงส์ปทุมาวาส

วิธีการขยายพันธุ์ต้นมะตาด

  1. แกะกลีบดอก ข้างในมีกลีบเล็ก (ขนาดเท่าเมล็ดกระถิน) ใช้มีดกรีดข้างในพบไส้ให้เอามีดควักเมล็ดที่อยู่ในไส้ออก
  2. เอาเมล็ดมาตากแห้ง เมล็ดมีสีออกแดงปนน้ำตาล แข็งเป็นยางเอามาผึ่งแดดพอหมาดๆ
  3. นำเมล็ดมาแช่น้ำ 1 คืน
  4. นำดินที่เตรียมไว้ ว่านเมล็ดลงไปเอาดินกลบรดน้ำ
  5. ประมาณ 2 เดือน จะเริ่มงอกเป็นต้นอ่อน

ประโยชน์

นอกจากใช้ผลมะตาดมาทำอาหาร เช่น นำผลอ่อนมาแกงคั่ว แกงส้ม ฯลฯ ต้นมะตาดยังนิยมปลูกเพื่ออาศัยร่มเงา ส่วนไม้จากต้นมะตาดยังใช้เป็นไม้ฟืนได้อีกด้วย

ที่มา: technologychaoban

บทความที่เกี่ยวข้อง

ล้ำไปอีกขั้น!! สตาร์ทอัพเมกาปั้นหุ่นยนต์ปลูกผัก ลดขั้นตอนที่ใช้คน แถมช่วยประหยัดน้ำ

อุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะหากสามารถผลิตผล หรือมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยยกระดับก็จะทำให้สามารถสร้างแหล่งอาหารที่มีประสิทธิภาพของผู้คนปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเทคโนโลยีที่

อ่านบทความนี้

ใครเคยลองแล้วบ้าง?! "น้ำมันขี้ม้อน" สุดยอดไอเท็มเด็ดแห่งปี สรรพคุณช่วยต้านมะเร็ง บำรุงสมอง

ดร.กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า นาโนเทค ร่วมกับศูนย์วิจ

อ่านบทความนี้

เปิดตัวข้าว 4 พันธุ์ใหม่ ชูจดเด่นให้ผลผลิตสูง-เริ่มจไหน่ายให้เกษตรกรธันวาคม

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีผู้บริหาร ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการพิจารณารับรอ

อ่านบทความนี้