เทคโนโลยีดิจิทัลและการเกษตรไทย

25 มิ.ย. 2563 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เทคโนโลยีดิจิทัลและการเกษตรไทย

ในปัจจุบัน โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ทำให้มนุษย์ต้องมีความรู้และสามารถในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลอันเห็นได้ชัดเจนในระบบการสื่อสารของมนุษย์ เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตก็เป็นผลมาจากการรับส่งข้อมูลดิจิทัลผ่านคอมพิวเตอร์ มือถือ เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้ในการค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ การใช้งานด้านความบันเทิง ด้านสุขภาพ การทำธุรกรรม ฯลฯ และสามารถประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างมากมาย นอกจากนั้น เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถนำมาใช้ในการทำงานได้ในหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งหมายรวมถึงอาชีพภาคการเกษตรด้วยเช่นกัน อาชีพภาคการเกษตรในประเทศไทยคิดเป็น 11.28 ล้านคน1/  แต่สัดส่วนของแรงงานในภาคการเกษตรมีการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือต่ำกว่ามีมากถึงร้อยละ 94.62/ และมีผลิตภัณ์มวลรวมภายในประเทศภาคการเกษตรต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ พ.ศ. 2562 เพียงร้อยละ 8.0 เท่านั้น3/ ดังนั้น การเพิ่มรายได้ในภาคการเกษตรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

การส่งเสริมพัฒนาผู้มีอาชีพภาคการเกษตรควรให้ความสำคัญด้านการลดรายจ่ายที่ใช้ในการผลิต เพิ่มรายได้จากการเพิ่มคุณภาพ/ปริมาณการผลิต ซึ่งสามารถทำได้จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ดังจะเห็นได้จากในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การเกษตรดิจทัลในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้ Big Data (ข้อมูลขนาดใหญ่) อธิบายถึงข้อมูลเชิงพื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม เช่น ความชื้นของดิน ความสมบูรณ์ของดิน สภาวะอากาศ วันที่เหมาะกับปลูกพืช เป็นต้น4/ การใช้เทคโนโลยี เช่น โดรน (drone) ในการส่งเสริมการเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) ซึ่งใช้ GPS และ Big Data ทำให้สามารถเก็บภาพผลผลิต ข้อมูลการอุ้มน้ำของดินเพื่อการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การติดตามการเจริญเติบโตของพืชรายวัน ความหนาแน่นของวัชพืชในพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ5/ การใช้แอปพลิเคชั่นในด้านการเกษตรของประเทศอินเดีย เช่น Mahindra & Mahindra (M&M) เป็นแอปพลิเคชั่นบนมือถือที่ให้เกษตรกรสามารถใช้เครื่องจักรทางการเกษตรโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของและจ่ายเพียงค่าบริการเท่านั้น eKutir Global เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มบนมือถือที่ให้บริการเครือข่ายเกษตรกรกับผู้เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย ธนาคาร ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร ร้านค้าปลีก เป็นต้น6/ ซึ่งค่อนข้างครบวงจรตั้งแต่การวางแผนการเพาะปลูก การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการตลาด   

ในประเทศไทย แอปพลิเคชั่นด้านการเกษตรมี 61 แอปพลิเคชั่น แต่นิยมใช้เพียง 3 แอปพลิเคชั่นที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุด คือ BAAC A-Mobile ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร Farmbook ของกรมส่งเสริมการเกษตร และ Farmer Info ของ DTAC ซึ่งยังต้องมีการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ให้แพร่หลายมากขึ้น7/ ในภาครัฐเองมีการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเกษตร เช่น โครงการพัฒนา New Generation Smart Farmers ทั่วประเทศ โครงการการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเกษตรอัจริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โครงการเพิ่มทักษะและศักยภาพเกษตรกรไทยสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ และโครงการอีกมากมาย ดังที่ระบุไว้ในแผนปฎิบัติการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ภายใต้แผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ.2561-2580)

ในขณะเดียวกัน โดยเฉพาะโครงการเน็ตประชารัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ตอบสนองการสร้างโอกาสให้เท่าเทียมกันทางสังคมให้กับหมู่บ้านเป้าหมายซึ่งการบริการทางโทรคมนาคมไม่ทั่วถึงและไม่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ จำนวน 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ8/ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนกว่า 8.5 ล้านคน โดยมีความเร็ว 100 Mbps/50 Mbps ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและเกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้และแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น และยังมีการต่อยอดโครงการเน็ตประชารัฐไปสู่โครงข่ายเน็ตประชารัฐแบบเปิด (Open Access Network) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและให้บริการปลายทาง (Last Mile Access) โดยให้บริการอินเทอร์เน็ตกับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและเกษตรกรในราคาที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมลงนามในการใช้สัญญาการใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐแล้ว จำนวน 3 ราย

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยหลักปรัชญาการทำเกษตรแบบเศรษกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซี่งเกษตรกรสามารถทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยการปลูกพืชและเลื้ยงสัตว์ต่างชนิดในพื้นที่เดียวกัน มีพื้นที่ปลูกข้าว พืชผักสวนครัว พืชไร่พีชสวนที่เหมาะกับพื้นที่นั้น ๆ ฟาร์มขนาดเล็ก เพื่อให้ลดรายจ่ายการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนและพึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากเกษตรกรสามารถผลิตได้เองในครัวเรือน มีแหล่งน้ำหรือบ่อเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในแปลงเกษตรของตนเอง ลดปัญหาภาวะฝนแล้งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตในทางการเกษตร และมีที่อยู่อาศัย ซึ่งพื้นที่ในการเพาะปลูกอาจปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกรเอง โดยเน้นความพอเพียงต่อการเลี้ยงชีพในครัวเรือน ส่วนที่นอกเหนือจากนั้นค่อยนำออกสู่ตลาดต่อไป และเมื่อเกษตรกรมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองโดยใช้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เกษตรกรสามารถเพิ่มการปลูกพืชเศรษฐกิจให้เหมาะกับภูมิอากาศและพื้นที่การเกษตรของตนเอง และสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทั้งในแปลงปลูกข้าว พืชผักสวนครัว พืชเศรษฐกิจ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ องค์ความรู้ในรูปแบบดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีการเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์ สภาวะอากาศ ฯลฯ เพื่อวางแผนการผลิต เพิ่มผลผลิต การตลาด การบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการพัฒนาศักภาพของตัวเกษตรกร และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนเกษตรกรได้อีกด้วย

ดังนั้น การเข้าถึงและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้การทำการเกษตรผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรแม่นยำ ลดความเสี่ยงทางด้านสภาพแวดล้อมและสภาวะอากาศ สามารถวางแผนกระบวนการผลิตไปจนถึงการตลาดได้อย่างครบวงจร อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพของเกษตรไทยเข้าสู่การทำการเกษตรรูปแบบใหม่โดยมีความพอเพียงและเกิดประโยชน์แก่ประเทศต่อไป         

ผู้เขียน: ศูนย์ขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เอกสารอ้างอิง

1/ รายงานการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 สำนักงานสถิติแห่งชาติ

2/ สำมะโนเกษตร พ.ศ. 2556 สำนักงานสถิติแห่งชาติ

3/ สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

4/ Buckmaster, D. J. Krogmeier, A. Ault. (2016). Digital Ag systems in the US & possible lessons for Australia, paper presented at Digital Disruption in Agriculture Conference, Sydney, 2-3 June, 2016

5/ Veroustraete, F. (2015). The Rise of the Drones in Agriculture. EC Agriculture editorial. 325-327. Available at https://www.researchgate.net/publication/282093589_The_Rise_of_the_Drones_in_Agriculture  Accessed on 6 June 2020

6/ Seth, A, Ganguly, K. (2017). Digital technologies transforming Indian agriculture. The Global Innovation Index 2017. 105-111. Available at https://www.wipo.int/edocs/pubdocs/en/wipo_pub_gii_2017-chapter5.pdf Accessed on 6 June 2020

7/ ลัทธพร รัตนวรารักษ์ และคณะ. (2019). Digital technology และการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย. aBRIDGEd Marketing Research Accessible, 9, 1-18. จาก https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2019/10/aBRIDGEd_2019_019.pdf สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2563

8/ ไทยรัฐออนไลน์. (24 สิงหาคม 2562). ติดตั้งเน็ตประชารัฐเพิ่ม หมื่นจุด เอื้อเกษตรกร ขายผลผลิตทางออนไลน์. จาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1645186 สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2563

ภาพประกอบ: jcomp / Freepik

บทความที่เกี่ยวข้อง

ล้ำไปอีกขั้น!! สตาร์ทอัพเมกาปั้นหุ่นยนต์ปลูกผัก ลดขั้นตอนที่ใช้คน แถมช่วยประหยัดน้ำ

อุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะหากสามารถผลิตผล หรือมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยยกระดับก็จะทำให้สามารถสร้างแหล่งอาหารที่มีประสิทธิภาพของผู้คนปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเทคโนโลยีที่

อ่านบทความนี้

ใครเคยลองแล้วบ้าง?! "น้ำมันขี้ม้อน" สุดยอดไอเท็มเด็ดแห่งปี สรรพคุณช่วยต้านมะเร็ง บำรุงสมอง

ดร.กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า นาโนเทค ร่วมกับศูนย์วิจ

อ่านบทความนี้

เปิดตัวข้าว 4 พันธุ์ใหม่ ชูจดเด่นให้ผลผลิตสูง-เริ่มจไหน่ายให้เกษตรกรธันวาคม

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีผู้บริหาร ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการพิจารณารับรอ

อ่านบทความนี้