น้ำขัง 3 เดือนไม่ตาย ปลูก ‘ไผ่อินโดจีน’ สู้น้ำท่วม ที่ชุมแสง นครสวรรค์

04 พ.ค. 2563 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
น้ำขัง 3 เดือนไม่ตาย ปลูก ‘ไผ่อินโดจีน’ สู้น้ำท่วม ที่ชุมแสง นครสวรรค์

ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่รับน้ำตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ประสบภัยน้ำท่วมทุกปีมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ “ชุมแสง” โดนน้ำท่วมอ่วมอรทัยในปี 2554 นานถึง 3 เดือนกว่า พืชผลการเกษตรที่ถูกน้ำท่วมเสียหายหมด ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนอย่างหนัก

เมื่อคราวอุทกภัยใหญ่ บ้านทับกฤชใต้ถูกน้ำท่วมนานกว่า 3 เดือน พืชผลเกษตรเสียหายหมด แต่กลับมีพืชอยู่ชนิดหนึ่งที่ถูกน้ำท่วมนานก็สามารถทนอยู่ได้ หลังจากน้ำลดลงพืชชนิดนั้นกลับให้ผลผลิตดีมาก นั่นก็คือ “ไผ่อินโดจีน” เป็นไผ่รับประทานหน่อสายพันธุ์หนึ่งที่ คุณนิรุต ผลพิกุล อยู่บ้านเลขที่ 4/1 หมู่ที่ 6 บ้านทับกฤชใต้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ปลูกอยู่ 12 ไร่

คุณนิรุต กล่าวว่า พื้นที่สวนไผ่ของตนถูกน้ำท่วมนานกว่า 3 เดือน ระดับน้ำสูงประมาณ 3 เมตรครึ่ง หลังจากระดับน้ำลดลงก็พบว่า ไผ่อินโดจีนที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ 12 ไร่ ยังยืนต้นอยู่ได้ไม่ล้มตาย จะมีตายก็เฉพาะไผ่ต้นอ่อนๆ เพิ่งจะลงปลูกใหม่ไม่ถึงปี นอกนั้นไม่ตาย

“จะว่าไผ่น้ำท่วมไม่ตายเสียทุกสายพันธุ์ก็ไม่ได้ เพราะละแวกบ้านที่ปลูกไผ่สีสุก ไผ่รวก และไผ่อื่นๆ ถูกน้ำท่วมตายหมด มะพร้าวที่ว่าแน่ๆ ยังตาย จะมีก็ไผ่อินโดจีนที่สวนผมเท่านั้นที่ไม่ตาย”

คุณนิรุต กล่าวอีกว่า นี่คือ จุดเด่นของไผ่ และหลังน้ำลดไผ่ก็แตกหน่อออกมามากมาย ในช่วงนี้สามารถแทงหน่อไปขายเป็นรายได้ชดเชยอย่างงดงามหลังน้ำท่วม ที่ไม่ต้องรอผลผลิตพืชอื่นเลย จึงมองว่าไผ่อินโดจีนไม่ใช่ทางเลือกของผู้ที่มีพื้นที่รับน้ำท่วม แต่เป็น “ทางออก” ที่จะต้องปลูกเพื่อให้มีรายได้เข้ามาหลังน้ำลด

คุณนิรุต บอกว่า ที่ต้องปลูกไผ่อินโดจีนนั้นก็เพราะเจ้าหน้าที่เกษตรประจำพื้นที่คือ คุณอรรถพร หรือ คุณบ๊อบ เข้ามาแนะนำให้ทดลองปลูกไผ่ดู เพราะไปเจอไผ่อินโดจีนเป็นไผ่สายพันธุ์หนึ่งที่ให้หน่อดก หน่อใหญ่ สามารถแทงหน่อขายเป็นรายได้เสริม นอกเหนือจากการทำนาและปลูกข้าวโพด

“ผมทำนาอยู่ 140 กว่าไร่ และปลูกข้าวโพดอีก 10 กว่าไร่”

คุณนิรุตบอก พร้อมกับเล่าอีกว่า ตนไปดูไผ่อินโดจีนที่มีคนรับมาขายต่อ คนขายบอกว่าไผ่ทนน้ำท่วมได้ดี เลยตัดสินใจทดลองปลูก 100 กิ่ง ราคาขาย กิ่งละ 150 บาท นำมาก็ขุดหลุมปลูกกว้าง 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร กลบโคนให้แน่นตามที่คนขายแนะนำ ระยะปลูก 4 x 4 เมตร รดน้ำให้ชุ่มไปจนกว่าดินจะรัดรากดี ต้นกล้าแข็งแรงแตกยอดอ่อนออกมา ก็ปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ เรื่องน้ำคอยให้บ้างช่วงหน้าแล้ง ช่วงอื่นปล่อยได้เลย สำหรับปุ๋ยใช้ปุ๋ยที่เหลือจากใส่ข้าวโพด หรือใส่ข้าวในนานำมาหว่านหรือใส่โคนต้น ไม่ต้องมากนักแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

ขณะที่ต้นไผ่ยังเล็กปัญหาที่พบคือ ต้นหญ้าจะขึ้นในแปลง ตรงนี้ก็ต้องดายหญ้าทิ้ง หรือเอารถไถเข้ามาไถระหว่างร่องบ้าง อย่าปล่อยให้หญ้าสูงท่วมต้นไผ่ แต่พอต้นไผ่เจริญเติบโตสูงขึ้นแล้ว ใบไผ่จะคลุมดินต้นหญ้าก็จะค่อยๆ หมดไป

ประมาณ 1 ปี ไผ่ก็จะเริ่มให้หน่อ

“แรกๆ ก็เก็บไว้รับประทานเองบ้าง ให้พรรคพวกเพื่อนฝูงบ้าง ที่เหลือก็ตัดหน่อขาย”

ระยะแรก ขุดหน่อไผ่ขายครึ่งหนึ่ง ได้เงินประมาณ 1,000-2,000 บาท ยิ่งตัดหน่อขาย ก็ยิ่งได้เงินเพิ่มมากขึ้น เพราะไผ่ให้หน่อออกมาตลอด จากรายได้ครั้งละ 1,000-2,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,000-3,000 บาทต่อการตัดหน่อขายหนึ่งครั้ง ปัจจุบัน ได้ผลผลิตหน่อไผ่ตัดขายครั้งหนึ่งประมาณ 20,000 บาท ต่อ 1 อาทิตย์

ใน 1 อาทิตย์ ตัดหน่อ 2 ครั้ง ประมาณ 1,000 กิโลกรัม ใน 1 เดือน จะมีรายได้ประมาณ 70,000-80,000 บาท หักค่าใช้จ่ายต่างๆ เหลือประมาณ 60,000-70,000 บาท ถ้าใส่ปุ๋ยดีๆ ผลผลิตก็ได้ดี และถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน หากให้น้ำและบำรุงต้นด้วยปุ๋ยไผ่ก็จะให้ผลผลิตดี ราคาขายจะสูงกว่าช่วงหน้าฝน ไผ่จึงไม่ใช่ตัวเลือก แต่เป็น “ทางออก” ในการสร้างรายได้หลังน้ำลดที่รวดเร็วมาก

สำหรับท่านที่สนใจ ไผ่อินโดจีน อยากจะทราบรายละเอียด โทรศัพท์ติดต่อ คุณนิรุต ผลพิกุล ได้ที่ โทร. 084-649-0889 หรือติดต่อที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ โทร. 056-229-445 ทุกวัน เวลาราชการ

 

ที่มา: technologychaoban

บทความที่เกี่ยวข้อง

ล้ำไปอีกขั้น!! สตาร์ทอัพเมกาปั้นหุ่นยนต์ปลูกผัก ลดขั้นตอนที่ใช้คน แถมช่วยประหยัดน้ำ

อุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะหากสามารถผลิตผล หรือมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยยกระดับก็จะทำให้สามารถสร้างแหล่งอาหารที่มีประสิทธิภาพของผู้คนปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเทคโนโลยีที่

อ่านบทความนี้

ใครเคยลองแล้วบ้าง?! "น้ำมันขี้ม้อน" สุดยอดไอเท็มเด็ดแห่งปี สรรพคุณช่วยต้านมะเร็ง บำรุงสมอง

ดร.กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า นาโนเทค ร่วมกับศูนย์วิจ

อ่านบทความนี้

เปิดตัวข้าว 4 พันธุ์ใหม่ ชูจดเด่นให้ผลผลิตสูง-เริ่มจไหน่ายให้เกษตรกรธันวาคม

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีผู้บริหาร ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการพิจารณารับรอ

อ่านบทความนี้