เพาะเห็ดฟางในตะกร้า ทำง่าย ต้นทุนต่ำ ใช้พื้นที่น้อย

01 พ.ค. 2563 / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เพาะเห็ดฟางในตะกร้า ทำง่าย ต้นทุนต่ำ ใช้พื้นที่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ผู้คนมักให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพของตนเองเป็นอันดับต้นๆ จึงทำให้มีการหันมาพึ่งพาธรรมชาติมากขึ้น หันมาปลูกผักสวนครัวแทนการปลูกไม้ดอก เพราะรู้สึกมั่นใจว่าร่างกายจะไม่รับสารเคมี นอกจากผักสวนครัวที่สามารถปลูกได้ในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถเพาะเห็ดฟางไว้รับประทานได้อีกด้วย

ไม่ใช่สิ่งที่น่าเหลือเชื่อ เพราะผู้คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าการเพาะเห็ดจะต้องทำโรงเรือนใหญ่โต แต่ขณะนี้เราไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากในการเพาะเห็ดฟาง เพียงแค่มีตะกร้า 1 ใบ ก็สามารถเพาะเห็ดฟางนำมารับประทานในครัวเรือนได้แล้ว

คุณสมชาย เฮงวัชรไพบูลย์ เกษตรจังหวัดภูเก็ต บอกว่า กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ได้สาธิตและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติก เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมภูเก็ต ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรลดลง ค่าครองชีพสูง และบริเวณที่พักอาศัยมีพื้นที่ว่างไม่มาก การเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติกจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

การเพาะเห็ดฟางสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะแบบกองเตี้ย การเพาะในถุง การเพาะแบบโรงเรือนอบไอน้ำ แล้วแต่สภาพความพร้อมของพื้นที่และความพร้อมของผู้เพาะ รวมทั้งวัสดุที่ใช้เพาะ ก็ใช้ได้หลากหลายอย่าง ตามที่มีในท้องถิ่น เช่น ฟางข้าว ผักตบชวา ต้นกล้วยแห้ง ไส้นุ่น เปลือกถั่ว หรือกากมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการนำวัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่านั่นเอง ที่สำคัญการเพาะเห็ด นอกจากจะเป็นการผลิตอาหารในครอบครัวแล้ว ยังสามารถสร้างงาน สร้างรายได้เสริม ในช่วงว่างจากฤดูการทำนา และวัสดุที่เหลือจากการเพาะเห็ดก็สามารถนำกลับลงในแปลงนาเพื่อบำรุงดิน หรือทำเป็นปุ๋ยหมักใส่พืชผักได้อีกด้วย

การเพาะเห็ดในตะกร้า เป็นการเพาะเห็ดอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำได้ง่าย ใช้พื้นที่น้อย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้ทุกครัวเรือนเพื่อบริโภค ดอกเห็ดสามารถทยอยออกได้เรื่อยๆ เป็นการลดรายจ่ายด้านอาหารในครัวเรือน และสามารถทำเป็นกิจกรรมเสริมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ด้วย โดยใช้วัสดุที่เหลือใช้จากไร่นาได้เกือบทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการเพาะเห็ดฟางแบบอื่นๆ แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ สามารถนำก้อนเชื้อเห็ดที่เก็บดอกหมดแล้วมาใช้ได้ ทั้งเห็ดฟาง เห็ดขอนขาว เห็ดนางฟ้า และเห็ดนางรม

สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็หาได้ไม่ยาก ประกอบด้วย ตะกร้าพลาสติก ขนาด 12×14 นิ้ว มีตาห่างประมาณ 2 นิ้ว เชื้อเห็ดฟางที่พร้อมเพาะ ก้อนเชื้อเห็ดเก่า ปุ๋ยหมัก หรือผักตบชวาหั่นสด ท่อนไม้สำหรับรองก้นตะกร้า โครงไม้ไผ่แบบสุ่ม และผ้าพลาสติกคลุมสุ่ม

ส่วนวิธีเพาะ ให้เทก้อนเชื้อเห็ดเก่าออกจากถุง ขยี้ให้แตก อัดลงในตะกร้า หนาชั้นละ 3 นิ้ว ใส่อาหารเสริมจำพวกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือผักตบชวาสับ ชั้นละ 1-2 กำมือ โรยเชื้อเห็ดฟาง รดน้ำพอชุ่มแล้วทำชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ต่อไปเหมือนกัน โดยชั้นที่ 3 ให้เหลือช่องว่างของตะกร้าจากปากไว้ 3 นิ้ว การเลือกเชื้อเห็ดที่ดี ควรเลือกที่มีเส้นใยเต็มถุง มีสีขาวนวล ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา และมีกลิ่นหอมของเห็ดฟาง ส่วนพื้นที่เพาะเห็ดต้องเป็นบริเวณที่ไม่มียาฆ่าแมลง น้ำไม่ท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ดี

วิธีการดูแลไม่ยาก หลังจากบรรจุวัสดุเพาะเห็ดเรียบร้อย ให้นำตะกร้าเห็ดที่ได้ไปวางไว้ตามร่มไม้ชายคา ที่มีแสงแดดเล็กน้อย โดยเอาท่อนไม้วางรองด้านล่างกันปลวก โดยการเพาะ 1 สุ่ม ควรใช้ตะกร้า 4 ใบ วางด้านล่าง 3 ใบ ซ้อนด้านบน 1 ใบ ใช้สุ่มครอบ คลุมด้วยแผ่นพลาสติก เมื่อครบ 4 วัน ให้เปิดพลาสติกคลุมตอนเช้าหรือเย็นเพื่อให้เชื้อเห็ดรับอากาศ ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วปิดไว้ตามเดิม ทิ้งไว้กระทั่ง วันที่ 9-12 ดอกเห็ดฟางก็จะเกิด สามารถเก็บไปประกอบอาหารได้ ถ้าทำจำนวนมากหลายสุ่มจะเหลือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอย่างดีอีกด้วย โดยดอกเห็ดฟางในตะกร้าสามารถเก็บได้เรื่อยๆ จนหมดรุ่น ซึ่งสามารถเปิดพลาสติกรดน้ำให้เปียกเอารุ่นที่ 2 ได้อีก พอดอกเห็ดหมดสามารถนำวัสดุที่เหลือนำไปเป็นปุ๋ยหมัก ใส่แปลงผัก หรือใส่แปลงนาได้อย่างดี หลังจากนั้น ล้างตะกร้าให้สะอาดตากแดด ประมาณ 1-2 แดด นำมาเพาะเห็ดรุ่นต่อไปได้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: คลิกลิงก์

ที่มา: technologychaoban

บทความที่เกี่ยวข้อง

ล้ำไปอีกขั้น!! สตาร์ทอัพเมกาปั้นหุ่นยนต์ปลูกผัก ลดขั้นตอนที่ใช้คน แถมช่วยประหยัดน้ำ

อุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะหากสามารถผลิตผล หรือมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยยกระดับก็จะทำให้สามารถสร้างแหล่งอาหารที่มีประสิทธิภาพของผู้คนปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเทคโนโลยีที่

อ่านบทความนี้

ใครเคยลองแล้วบ้าง?! "น้ำมันขี้ม้อน" สุดยอดไอเท็มเด็ดแห่งปี สรรพคุณช่วยต้านมะเร็ง บำรุงสมอง

ดร.กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า นาโนเทค ร่วมกับศูนย์วิจ

อ่านบทความนี้

เปิดตัวข้าว 4 พันธุ์ใหม่ ชูจดเด่นให้ผลผลิตสูง-เริ่มจไหน่ายให้เกษตรกรธันวาคม

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีผู้บริหาร ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการพิจารณารับรอ

อ่านบทความนี้